รับทำบัญชี ตรวจสอบบัญชี ปิดงบการเงิน ปิดงบย้อนหลัง ปิดงบด่วน ยินดีให้คำปรึกษาฟรี ประสบการณ์กว่า 20 ปี
Home ห้องสนทนา ปัญหาทั่วไป ความแตกต่างของสัญญาเช่าซื้อกับสัญญาลิสซิ่ง
 กระดานสนทนา :: ปัญหาทั่วไป
ยินดีต้อนรับ บุคคลทั่วไป   [ลงทะเบียน]  เข้าสู่ระบบ
 หัวข้อกระทู้ :ความแตกต่างของสัญญาเช่าซื้อกับสัญญาลิสซิ่ง.. 01-03-2013 10:31:09 
สุณิษาเรืองหิรัญ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19-11-2010 08:53:13
ตอบ: 22
ที่อยู่
 
ความแตกต่างของสัญญาเช่าซื้อกับสัญญาลิสซิ่ง
สัญญาเช่าซื้อ (Hire Purchase)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 บัญญัติว่า “อันว่าสัญญาเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว” จึงกล่าวได้ว่าสัญญาเช่าซื้อสัญญาที่เจ้าของทรัพย์สินเอาทรัพย์สินให้เช่า โดยมีข้อตกลงว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของผู้เช่า เมื่อผู้เช่าได้จ่ายเงินให้เจ้าของทรัพย์สินตามจำนวนงวดที่ตกลงกันไว้ โดยผู้เช่าซื้อไม่ต้องแสดงเจตนาว่าจะซื้อและไม่ต้องชำระราคาทรัพย์สินอีก สัญญาเช่าซื้อจึงมีลักษณะเป็นสัญญาผสมระหว่างสัญญาเช่ากับสัญญาซื้อ โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
1.ผู้ให้เช่าต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ให้เช่า
2.ผู้ให้เช่านำทรัพย์สินของตนให้ผู้เช่าไปใช้ประโยชน์
3.ผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้เช่าหรือให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่า
4.ผู้เช่าจะต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อเป็นคราวๆ (งวด) จนครบถ้วนตามที่ตกลงกันให้แก่ผู้ให้เช่า
สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายคือผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อ ต้องลงลายมือชื่อในสัญญา หากมิได้ทำเป็นหนังสือหรือคู่สัญญาลงชื่อเพียงฝ่ายเดียว สัญญาจะตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ ไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา
ภาระภาษี
1.ภาษีเงินได้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการให้เช่าซื้อ มีหน้าที่คำนวณกำไรสุทธิจากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี และใช้เกณฑ์สิทธิ โดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และนำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป 1/2528 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล ข้อ 3.5 กำหนดการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้เช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ยังไม่ได้โอนไปยังผู้ซื้อและมีอายุสัญญาเกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ให้ใช้เกณฑ์สิทธิ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องนำกำไรที่เกิดจากการขายมารวมคำนวณเป็นรายได้ทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการให้เช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระ สำหรับดอกผลเช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้แต่ละงวดตามวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป
การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ได้โอนไปยังผู้ซื้อทันที ให้นำรายได้จากการขายมารวมคำนวณเป็นรายได้ทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการขายสินค้า การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อหรือผู้ซื้อจากการขายผ่อนชำระ ให้ใช้เกณฑ์สิทธิ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องนำทรัพย์สินที่ได้มาโดยการเช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระมาคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินนั้นให้ถือตามราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมด แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่จะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชีจะต้อง ไม่เกินค่าเช่าซื้อหรือราคาที่จะต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
คำว่า “กำไรที่เกิดจากการขาย” ตามวรรคหนึ่งหมายความว่า ผลต่างระหว่างราคาขายเงินสดกับต้นทุนของทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระ
คำว่า “ดอกผลเช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระ” ตามวรรคหนึ่งหมายความว่า ผลต่างระหว่างจำนวนเงินทั้งสิ้นที่ต้องจ่ายตามสัญญากับราคาขายเงินสด
2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม
มาตรา 77/1(8)(ก) กำหนดให้สัญญาเช่าซื้อสินค้า เป็นการขาย และมีจุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 78(2) กล่าวคือให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตามงวดที่ถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวดไม่ว่าจะได้รับชำระเงินหรือไม่ เว้นแต่กรณีที่ได้มีการรับชำระราคาสินค้าหรือออกใบกำกับภาษีเกิดขึ้นก่อนถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ในกรณีผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่างวด
3.อากรแสตมป์
การทำสัญญาเช่าซื้ออยู่ในบังคับต้องปิดอากรแสตมป์ ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ลักษณะแห่งตราสารที่ 3 โดยจะต้องปิดอากรแสตมป์ในอัตรา 1 บาทของทุกจำนวนเงิน 1,000 บาทหรือเศษของเงิน 1,000 บาท แห่งราคาทั้งหมด (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
4.การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา
แม้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เช่าซื้อจะยังคงเป็นของผู้ให้เช่าซื้ออยู่ แต่ผู้ให้เช่าซื้อก็ไม่มีสิทธิหักค่าเสื่อมราคาของทรัพย์นั้น เนื่องจากได้ถือทรัพย์นั้นเป็นสินค้าและได้นำราคาซื้อของทรัพย์นั้นไปหักเป็นรายจ่ายในรูปของต้นทุนสิค้าเพื่อหากำไรขั้นต้นที่กิจการต้องรับรู้รายได้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ในส่วนของผู้ให้เช่าซื้อแม้จะยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในก็สามารถหักค่าเสื่อมราคาได้ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 145
สัญญาลิสซิ่ง (Leasing)
ลิสซิ่ง เป็นรูปแบบที่นำมาจากต่างประเทศ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องเอกเทศสัญญา ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับลิสซิ่งไว้เป็นการเฉพาะ สัญญาลิสซิ่งคือสัญญาที่เจ้าของทรัพย์สิน (Leasor) ตกลงให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง (Leasee) ใช้ประโยชน์จากทรัพย์นั้นได้ โดยมีเงื่อนไขและข้อจำกัดตามที่ระบุในสัญญา และต้องชำระราคาตามที่กำหนดไว้ โดยเจ้าของทรัพย์สินตกลงจะขายทรัพย์สินที่ให้ลิสซิ่งนั้นให้แก่ผู้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งเมื่อครบกำหนดตามสัญญา การให้เช่าแบบลิสซิ่งนั้น ราคาค่าเช่าแต่ละงวดจะมิได้รวมราคาทรัพย์สินด้วย แต่จะมีการระบุไว้ต่างหากในสัญญานั้น และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่านั้นจะไม่ได้โอนไปยังผู้เช่าโดยทันทีดังเช่นสัญญาเช่าซื้อ หากผู้เช่าประสงค์จะซื้อหรือรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ต้องแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นของผู้ให้เช่าและชำระราคาซื้อทรัพย์สินตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาก่อน กรรมสิทธิ์จึงจะโอนมาเป็นของผู้เช่า สัญญาลิสซิ่งส่วนมากจะมีข้อกำหนดว่า หากบอกเลิกสัญญาก่อนจะเสียค่าปรับ ยิ่งบอกเลิกเร็วค่าปรับก็จะสูง และเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ผู้เช่าแบบลิสซิ่งจะซื้อทรัพย์สินหรือไม่ก็ได้
ภาระภาษี
1.ภาษีเงินได้
สัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง เป็นเพียงสัญญาเช่าที่รวมกับคำมั่นของผู้ให้เช่าว่าจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่านั้น เมื่อสิ้นสุดสัญญา ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาเช่าซื้อ เงินได้จากสัญญาลิสซิ่งจึงเป็นเงินได้จากการเช่าทรัพย์เท่านั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการให้เช่าทรัพย์ จึงมีหน้าที่คำนวณกำไรสุทธิจากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี และใช้เกณฑ์สิทธิ โดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และนำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ของการเช่าแบบลิสซิ่ง กรมสรรพากรมีคำสั่งที่ ท.ป.4/2528 กำหนดให้ผู้จ่ายเงินค่ามีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ที่จ่าย ยกเว้นผู้ให้เช่าจะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วถึง 60 ล้านบาท และสัญญาลิสซิ่งมีระยะเวลาถึง 3 ปีขึ้นไป ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากลิสซิ่งเป็นเพียงสัญญาเช่าทรัพย์ ที่มีคำมั่นว่าผู้ให้เช่าตกลงจะขายทรัพย์สินให้แก่ผู้เช่าเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของสัญญาไม่มีลักษณะเป็นสัญญาเช่าซื้อ สัญญาลิสซิ่งจึงเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในการเสียภาษีจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ ออกใบกำกับภาษี หรือได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่นตามาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่ผู้เช่าลิสซิ่งไม่ชำระราคาค่าบริการผุ้ให้เช่าก็ไม่จำเป็นต้องออกใบกำกับภาษีขายแต่ประการใด
3.อากรแสตมป์ สัญญาลิสซิ่ง เป็นสัญญาเช่าทรัพย์ที่ทีคำมั่นว่าผู้ให้เช่าตกลงจะขายทรัพย์สินเมื่อสิ้นสุดระยะของสัญญา ไม่เป็นสัญญาเช่าซื้อ จึงไม่ต้องติดอากรแสตมป์ ในกรณีนี้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 8810/2543 ว่า สัญญาลิสซิ่งไม่อยู่ในบังคับต้องติดอากรแสตมป์แต่อย่างใด
4.การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา
เนื่องจากสัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง เป็นลักษณะของสัญญาเช่าทรัพย์ ผู้ให้เช่าซื้อยังคงมีสิทธิหักค่าเสื่อมราคาของทรัพย์นั้น เนื่องจากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ยังไม่ได้โอนไปยังผู้เช่า ผู้เช่าจึงไม่มีสิทธิ์หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา แต่สามารถนำค่าเช่ามาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ตามปกติ โดยเงินค่าเช่าที่จ่ายรายเดือนต้องบันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายค่าเช่าได้เต็มจำนวนที่จ่ายจริง แต่มีข้อพึงระวัง เฉพาะกรณีเป็นการเช่ารถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารส่วนบุคคลที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน นำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้ไม่เกินเดือนละ 36,000 บาท หรือไม่เกิน คันละ 1,200 บาทต่อวัน
ความแตกต่างระหว่างสัญญาเช่าการเงิน (Financial Lease) และสัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Lease)
สัญญาเช่าการเงิน (Financial Lease) เป็นข้อตกลงเช่า ที่การเช่ามีระยะเวลาที่แน่นอน ตั้งแต่ระยะปานกลางถึงระยะยาว โดยผู้ให้เช่ามิได้เป็นผู้ให้การบำรุงรักษา ซ่อมแซม ทำประกันภัย หรือการบริการใดๆ ต่อทรัพย์สินที่ให้เช่าแก่ผู้เช่า ผู้ให้เช่าจะคำนวณค่าเช่า จากราคาทรัพย์สิน ดอกเบี้ย และคุณประโยชน์ของทรัพย์สินนั้นๆ โดยทั้งผู้ให้เช่าและผู้เช่าสามารถบอกเลิกสัญญาได้ทั้ง 2 ฝ่าย
สัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) เป็นลิซซิ่งที่นิยมกันเป็นส่วนมาก Operating Lease เป็นการเช่าทรัพย์ในเวลาสั้น ส่วนใหญ่ประมาณ 24-60 เดือน ซึ่งทั้งผู้ให้เช่าหรือผู้เช่าสามารถบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเวลาได้ ทั้งนี้ตามหลักการ ผู้ให้เช่าจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดต่อ ทรัพย์สินนั้น ๆ Operating Lease จึงมีลักษณะใกล้เคียงกับสัญญาการเช่า (Rent) ทั่วไป
มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 17 (ปรับปรุง 2552) เรื่อง สัญญาเช่า
สัญญาเช่าการเงินหมายถึงสัญญาเช่าที่ทำให้เกิดการโอนความเสี่ยงและผลตอบแทนทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่ผู้เป็นเจ้าของพึงได้รับจากสินทรัพย์ให้แก่ผู้เช่าไม่ว่าในที่สุดการโอนกรรมสิทธิ์จะเกิดขึ้นหรือไม่
สัญญาเช่าดำเนินงาน หมายถึง สัญญาเช่าที่มิใช่สัญญาเช่าการเงิน
ในการจัดประเภทสัญญาเช่าเป็นสัญญาเช่าการเงินหรือสัญญาเช่าดำเนินงาน กิจการต้องพิจารณาถึงเนื้อหาของรายการมากกว่ารูปแบบตามสัญญา
กิจการต้องจัดประเภทสัญญาเช่าเป็นสัญญาเช่าการเงิน หากสัญญานั้นโอนความเสี่ยงและ
ผลตอบแทนทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่ผู้เป็นเจ้าของพึงได้รับจากสินทรัพย์ไปให้แก่ผู้เช่าและต้องจัดประเภทสัญญาเช่าเป็นสัญญาเช่าดำเนินงานหากสัญญานั้นไม่ได้โอนความเสี่ยง หรือผลตอบแทนทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่ผู้เป็นเจ้าของพึงได้รับจากสินทรัพย์ไปให้แก่ผู้เช่า
กิจการต้องจัดประเภทสัญญาเช่าเป็นสัญญาเช่าการเงินหากสัญญานั้นทำให้เกิดสถานการณ์ต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งสถานการณ์
1. สัญญาเช่าโอนความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ให้แก่ผู้เช่าเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของสัญญาเช่า
2. ผู้เช่ามีสิทธิเลือกซื้อสินทรัพย์ด้วยราคาที่ต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรม ณ วันที่สิทธิเลือกเกิดขึ้น โดยราคาตามสิทธิเลือกนั้นมีจำนวนต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์มากเพียงพอที่จะทำให้เกิด
ความแน่ใจอย่างสมเหตุสมผล ณ วันเริ่มต้นของสัญญาเช่าว่าผู้เช่าจะใช้สิทธิเลือกซื้อสินทรัพย์นั้น
3. ระยะเวลาของสัญญาเช่าครอบคลุมอายุการให้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของ
สินทรัพย์แม้ว่าจะไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์เกิดขึ้น
4. ณ วันเริ่มต้นของสัญญาเช่า มูลค่าปัจจุบันของจำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องจ่ายมีจำนวนเท่ากับ
หรือเกือบเท่ากับมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ที่เช่า
5. สินทรัพย์ที่เช่ามีลักษณะเฉพาะจนกระทั่งมีผู้เช่าเพียงผู้เดียวที่สามารถใช้สินทรัพย์นั้น
โดยไม่จำเป็นต้องนำสินทรัพย์ดังกล่าวมาทำการดัดแปลงที่สำคัญ
ข้อบ่งชี้ถึงสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งหรือหลายสถานการณ์รวมกันที่ทำให้สามารถจัดสัญญาเช่าเป็นสัญญาเช่าการเงินได้ มีดังต่อไปนี้
1. หากผู้เช่าสามารถยกเลิกสัญญาเช่าได้ และผู้เช่าเป็นผู้รับผิดชอบผลเสียหายที่เกิดกับผู้ให้เช่าเนื่องจากการยกเลิกนั้น
2. ผู้เช่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกำไรหรือผลขาดทุนจากการผันผวนของมูลค่ายุติธรรมของมูลค่าคงเหลือ (ตัวอย่างเช่น มูลค่ายุติธรรมของมูลค่าคงเหลือที่อยู่ในรูปของค่าเช่าที่ผู้ให้เช่าลดให้ซึ่งรวมแล้วมีจำนวนเท่ากับส่วนใหญ่ของจำนวนที่ได้รับจากการขายมูลค่าคงเหลือ ณ วันสิ้นสุดสัญญาเช่า)
3. ผู้เช่าสามารถต่อสัญญาเช่าครั้งที่สองด้วยการจ่ายค่าเช่าที่มีจำนวนต่ำกว่าค่าเช่าในตลาดอย่างเป็นนัยสำคัญ
ตารางเปรียบเทียบสัญญาเช่าซื้อกับสัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง

สัญญาเช่าซื้อ
สัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง
1.การโอนกรรมสิทธิ์
ทันทีเมื่อชำระค่าเช่าซื้อ
เมื่อผู้เช่าชำระเงินค่าซื้อซาก
2.ผู้เช่า/ผู้เช่าซื้อ
บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล
นิติบุคคลเท่านั้น
3.การบันทึกบัญชีค่างวดจ่ายรายเดือน
ชำระหนี้เช่าซื้อ
ชำระค่าเช่า
4.ผู้บันทึกทรัพย์สินทางบัญชี
ผู้เช่าซื้อ
ผู้ให้เช่าซื้อ
5.ผู้บันทึกค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน
ผู้เช่าซื้อ
ผู้ให้เช่าซื้อ
6.การรับรู้รายได้ตามมาตรฐานทางบัญชี
รับรู้รายได้ ณ วันที่ขาย โดยรายได้คำนวณจากมูลค่ายุติธรรมของสิ่งตอบแทนที่ได้รับหรือค้างรับ เช่นเงินสดโดยไม่รวมดอกผล
แบ่งสัญญาออกเป็น
1) Financial Lease รับรู้เฉพาะดอกผลเป็นรายได้
2) Operation Lease รับรู้ทั้งเงินต้นและดอกผลเป็นรายได้ทั้งจำนวนตามงวดที่ถึงกำหนดเวลาชำระ
7.การรับรู้รายได้ตามประมวลรัษฎากร
กำไรที่เกิดจากการขายมารวมคำนวณเป็นรายได้ทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการให้เช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระ ส่วนดอกผลเช่าซื้อหรือขายผ่อนชำระให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้แต่ละงวดตามวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป
ไม่มีคำนิยามเกี่ยวกับการเช่าแบบลิสซิ่ง จึงถือเป็นการเช่าทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในทางภาษีอากร จึงเป็น Operation Lease รับรู้ทั้งเงินต้นและดอกผลเป็นรายได้ทั้งจำนวนตามงวดที่ถึงกำหนดเวลาชำระ



IP Logged
หน้า # 


Powered by ccBoard


Joomla SEO powered by JoomSEF